เด็กบังเอิญ

"...บทความต่างๆ ผมได้อ่านมาจากหนังสือต่างๆ และรวมรวมมาจากเว็บต่างๆด้วยและได้ยินมาด้วย ผมจึงรู้สึกว่า คำเหล่านี้และบทความเหล่านี้ อาจช่วยให้ เราได้ข้อคิดให้กำลังใจในการใช้ชีวิตบนโลกกลมๆใบนี้อย่างมีความสุขในสิ่งที่ดี งามสามารถหยิบเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ไม่มากก็น้อยสมควรแก่ผู้สนใจครับ ... ขอขอบคุณทุกคน ณ โอกาสนี้ครับ...." ສະບາຍດີ (เด็กบังเอิญ...)

วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


ดีที่สุดในกระดาษ


นักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่งดุ่มเดินเข้าไปหาบรรณารักษ์ด้วยสีหน้าเซ็งๆ
ผมไม่อยากเสียเวลาเปล่าอ่านหนังสือไร้ค่า ช่วยแนะนำหนังสือที่ดีที่สุดในโลกให้ผมหน่อย
“เสียใจ… เขาห้ามบรรณารักษ์พูดว่าหนังสือเล่มไหนดีที่สุด”
ไหงงั้นล่ะ?
“เพราะหนังสือดีที่สุดต้องทำให้คนอ่านดีขึ้น แต่เรายังไม่เจอหนังสือเล่มไหนทำให้ทุกคนดีขึ้น คุณอาจดีขึ้นจากการอ่านหนังสือที่ใครๆตัดสินว่าแย่ก็ได้”
งั้นมีหลักเกณฑ์ชี้ไหมว่าหนังสือที่ดีที่สุดในโลกสำหรับผมต้องเป็นอย่างไร?
“ข้ามคำถามนั้นไปก่อน เอาคำถามนี้แทน ชีวิตคุณต้องการอะไร?”
ผมไม่รู้
“โอเค อย่างนี้ต้องอ่านหนังสือที่กระตุ้นให้คุณรู้ว่าชีวิตนี้คุณต้องการอะไร”
โอ้! เข้าใจล่ะ ผมควรไปที่ตู้หนังสือหมวดไหน?
“ถ้าคุณชอบศาสนา หนังสืออาจอยู่ในหมวดศาสนา ถ้าคุณชอบการ์ตูน บางทีมันอาจอยู่ในหมวดการ์ตูน”
งั้นผมจะลองไปหาในหมวดการ์ตูนก่อน แต่เอ! ถ้าผมอ่านหนังสือเล่มนั้นและทำให้ผมรู้แล้วว่าต้องการอะไรในชีวิต หนังสือเล่มนั้นก็ไม่ดีที่สุดในโลกสำหรับผมอีกต่อไปล่ะสิ?
“ถึงเวลานั้นคุณต้องตอบคำถามตัวเองใหม่”
คำถามว่าอะไร?
“ทำยังไงจะได้สิ่งที่ต้องการ”
เออ จริง! หนังสือที่กระตุ้นให้อยากได้ กับหนังสือที่แนะวิธีให้ได้มา ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเล่มเดียวกัน
“นั่นแหละความจริงที่น่าเสียดาย”
มันควรจะอยู่ในหมวดหนังสือฮาวทูกระมัง?
“บางครั้งหนังสือฮาวทูก็ไม่ได้สอนวิธีทำ อาจแค่เล่าให้ฟังว่าคนเขียนมีประสบการณ์มาอย่างไรเท่านั้น”
เห็นด้วย! หนังสือบางเล่มแค่สอนให้หลอกตัวเอง น่าสงสัยว่าคนเขียนเคยหลอกตัวเองสำเร็จหรือเปล่าด้วยซ้ำ
“เอางี้ดีกว่า เกิดมาคุณเคยเจอใครที่น่าเชื่อถือบ้าง?”
ขอเบะปากตอบว่าไม่เคย
“เพราะอะไร?”
บางคนดูไม่น่าเชื่อถือแต่แรก บางคนดูน่าเชื่อถือแต่ก็ท่าดีทีเหลวในภายหลัง
“แปลว่าคนที่น่าเชื่อถือที่สุด พากันทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองก่อนตาย?”
ก็ไม่แน่ ไอแซค นิวตันต้องตายไปเป็นร้อยๆปีก่อนโดนไอน์สไตน์เกิดมาทำลายความน่าเชื่อถือบางทฤษฎีของเขา แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าไอน์สไตน์คิดอะไรไว้ผิดบ้าง จนกว่าจะมีคนพิสูจน์ได้ในอนาคตเป็นร้อยๆปีข้างหน้า
“แล้วถ้าทฤษฎีของใครไม่ถูกทำลายล้างได้เลยเป็นพันๆปีจนถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคตล่ะ?”
คนนั้นก็คงน่าเชื่อถือจริงมั้ง ถ้าผมจะอ่านงานของคนๆนั้นก็คงต้องเผื่อใจเชื่อมากหน่อย
“ถ้าอย่างนั้นฉันขอแนะนำให้ลองอ่านสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสดู ท่านมีทั้งคำที่จะทำให้คุณนึกออกว่าชีวิตนี้ต้องการอะไร แล้วก็มีทั้งวิธีการเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา นอกจากนั้นความน่าเชื่อถือของท่านยังยืนยงมาเกือบสามพันปี เพราะทุกคนพิสูจน์ความจริงได้ก่อนตาย ยุคนาโนเทคโนโลยีของเรายังทำลายความน่าเชื่อถือของท่านไม่ได้ ทั้งด้านที่ท่านแสดงความจริงระดับใหญ่เกี่ยวกับดวงดาวในจักรวาล และทั้งด้านที่ท่านแสดงความจริงระดับเล็กเกี่ยวกับตัวอ่อนอันเป็นกำเนิดมนุษย์ ตลอดจนกระทั่งวิธีดำเนินจิตเพื่อเข้าถึงความบริสุทธิ์สว่าง เป็นอิสระจากทุกข์อย่างสิ้นเชิง”
แล้วผมจะแน่ใจได้อย่างไร ว่าอันไหนพระพุทธเจ้าพูด อันไหนคนอื่นพูดให้นึกว่าพระพุทธเจ้าพูด?
“คุณควรอ่านบันทึกชิ้นแรกที่น่าเชื่อถือที่สุด คือพระไตรปิฎก”
ผมจะอ่านเข้าไปอย่างไรไหว? เนื้อหาตั้งหลายสิบเล่มโตๆ แถมไม่มีสารบัญ ไม่มีลำดับง่ายไปหายาก
“ก็อ่านที่ผู้รู้ท่านเรียบเรียงไว้สั้นๆง่ายๆ อย่างเช่นพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชนของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ”
ผมจะหาตัวอย่างหลักฐานเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้จากไหน?
“จะหาไปทำไม?”
เอาไว้เป็นแรงบันดาลใจ
“หนังสือทำให้คุณได้คิด การได้คิดนั่นแหละแรงบันดาลใจ ทำไมต้องรอตัวอย่างจากคนอื่น ในเมื่อคุณเป็นตัวอย่างให้คนที่เขายังไม่ได้รับแรงบันดาลใจอย่างคุณ”
ผมอ่อนแอเกินกว่าจะดูดเอาความเข้มแข็งมาจากหนังสือ
“ความอ่อนแอเกิดจากการคิดมาก ถ้าหากคิดน้อยลงคุณจะเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม”
การอ่านหนังสือจะไม่ทำให้คิดมากได้อย่างไร?
“คุณต้องหัดทำมากกว่าอ่าน แต่ควรอ่านก่อนหัดทำ”
จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อผมชอบอ่านมากกว่าทำกิจกรรมอื่นใดในชีวิต
“คุณถึงต้องการหนังสือดีที่สุด ที่ทำให้คุณคิดออกว่าต้องการของจริงแบบใดมากกว่าของปลอมในกระดาษ”


หนังสือที่ดีที่สุดไม่มี
มีแต่การอ่านที่ดีที่สุด
การอ่านที่ดีที่สุด
คือการอ่านเพื่อทำชีวิตจริงให้ดีขึ้น
คุณดังตฤน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น